วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

นูรี อัล เคลดี จากเน็ตบุ๊คฟีเวอร์ สู่เน็ตท็อปเชื่อมโลก

สิ่งที่จะกระตุ้นให้เน็ตบุ๊คยังโตได้แม้ราคาโน้ตบุ๊คจะขยับลงมาใกล้เคียงกันมากคือความเหนือกว่าในมุมของขนาดเครื่องที่เล็กกว่าเบากว่า และถูกกว่า

"เน็ตบุ๊คและเน็ตท็อป ประสบความสำเร็จมากๆ และมียอดขายดีในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว เพราะคนนิยมซื้อใช้เป็นเครื่องที่ 2 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซื้อเน็ตบุ๊ค และเน็ตท็อป เพื่อใช้เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ซึ่งมันกลายเป็นความท้าทายของผมที่ต้องหาวิธีเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ผู้ใช้เข้าใจตัวเองดีแล้วหรือยังว่าเขาต้องการซื้ออะไร เพราะหลายคนซื้อเน็ตบุ๊คกลับไป เพราะเข้าใจว่ามันคือโน้ตบุ๊คราคาถูก แต่พอกลับถึงบ้านเปิดเครื่องแล้วพบว่า มันไม่ได้มีฟังก์ชันอย่างที่ต้องการ"

"นูรี อัล เคลดี" มือวางกลยุทธ์ และการทำตลาดในกลุ่มคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดของอินเทล ในฐานะผู้จัดการทั่วไปสำหรับผลิตภัณฑ์เน็ตบุ๊คและเน็ตท็อป กลุ่มโมบายล์ แพลตฟอร์ม บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐ เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ในโอกาสเดินสายเวิร์คชอปในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์รุ่นเล็กทั้ง "เน็ตบุ๊ค" และ "เน็ตท็อป"

ชี้ไทยซื้อเน็ตบุ๊คเป็นพีซีเครื่องแรก
เขายอมรับว่า ที่ผ่านมาตลาดยังสับสนกับเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์เซ็กเมนท์ใหม่ ทั้ง "เน็ตบุ๊ค" หรือคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้แพลตฟอร์มอินเทล อะตอม เพื่อใช้งานฟังก์ชันทั่วไปที่ไม่ต้องการคุณสมบัติเครื่องสูงมากนัก

เช่นเดียวกับ "เน็ตท็อป" ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะบนอินเทล อะตอม แพลตฟอร์ม ที่ลดทอนคุณสมบัติสูงๆ บางอย่าง เพื่อให้เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป

"เคลดี" บอกว่า ตลอด 25 ปีที่ได้ร่วมงานกับอินเทลในหลากหลายหน้าที่ ทั้งวิศวกร ดูแลตลาดดีไอวาย เซิร์ฟเวอร์ หรือแม้แต่ดูแลคุณภาพของสินค้า ทว่าบทบาทในฐานะผู้ดูแลทั้งตลาดเน็ตท็อป และเน็ตบุ๊ค ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่มากๆ สำหรับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และมีความท้าทายมาก ทำให้เขาพบว่างานในหน้าที่ใหม่ก็"ท้าทาย"ไม่แพ้กัน เนื่องจากอยู่ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้ตัดสินใจวางงบประมาณสำหรับโครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ทุกกลุ่ม

กว่า 3 ปีที่ได้รับมอบหมายเขาพบว่า กระแสความต้องการเครื่องประเภทนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ "เน็ตบุ๊ค" ซึ่งเจ้าของเน็ตบุ๊คกว่า 50% ทั่วโลกเป็นผู้ที่มีคอมพิวเตอร์ประเภทใด ประเภทหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อสำหรับพกพาไว้ใช้งานเคลื่อนที่ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา

แต่สำหรับประเทศไทยเขาให้ความเห็นว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อเน็ตบุ๊ค และเน็ตท็อป เพื่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ครั้งแรก โดยประเมินในภาพรวมที่สามารถเก็บตัวเลขได้พบว่า ตลาดเน็ตท็อปมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"คงประเมินตัวเลขที่แท้จริงไม่ได้ แต่ในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดของ First time buyer เพราะไทยยังถือเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับอินเทล ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้สูงมาก และที่ผ่านมากระแสเน็ตบุ๊คก็ค่อนข้างดี ซึ่งเป็นสัญญาณดีว่าเราเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเราต้องการทลายกำแพงอุปสรรคราคา เพื่อทำให้ปัญหาช่องว่างดิจิทัลลดลง" ผู้บริหารอินเทลว่า

ชี้เทรนด์ขายพ่วง บ.สื่อสาร
ด้านการผลักดันตลาด เขายอมรับว่า นอกจากอินเทลแล้วยังจะต้องได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งกลุ่มโออีเอ็มเพื่อพัฒนาตัวเครื่อง รวมทั้งการจับมือกับพันธมิตรในกลุ่มบริษัทสื่อสาร ซึ่งเชื่อว่ากำลังจะเป็นแนวทางใหม่ในการทำตลาดที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์รุ่นเล็กเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

"เคลดี" ยกตัวอย่าง ความร่วมมือทำโปรโมชั่นกับบริษัทสื่อสารในฟิลิปปินส์ เพื่อบันเดิลแพ็คเกจดีเอสแอล และบรอดแบนด์ กับคอมพิวเตอร์ของอินเทล ขณะที่ในเวียดนามก็มีโครงการให้แอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาสำหรับผู้ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรก

ส่วนไทยก็มีโครงการ "มาย แฟมิลี่ พีซี" ที่อินเทลทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งไอที และสื่อสาร ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นตลาดเน็ตท็อป ที่ได้รับการตอบรับดีจากผู้ใช้ในประเทศ

เขาเชื่อว่า สิ่งที่จะกระตุ้นให้ตลาด "เน็ตบุ๊ค" ยังเติบโตต่อไปได้ แม้ราคาโน้ตบุ๊คจะขยับลงมาใกล้เคียงกันมาก นั่นคือ ความเหนือกว่าในมุมของขนาดเครื่องที่เล็กกว่า, น้ำหนักเบากว่า และราคาที่ยังคงต่ำกว่าโน้ตบุ๊ค

ขณะที่ "เน็ตท็อป" จะเริ่มมีบทบาทโดดเด่นในเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าเครื่องตั้งโต๊ะทั่วไป แต่ก็ยังสามารถตอบสนองการใช้งานพื้นฐานได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง

"ผมตั้งความหวังจะผลักดันตลาดเน็ตท็อปให้มียอดขายดีขึ้นในตลาดกำลังพัฒนา เหมือนกับที่ทำได้แล้วในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว จากปัจจุบันยอดขายในเชิงโวลุ่มส่วนใหญ่ยังคงมาจากเน็ตบุ๊ค ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราทำให้คนมีพีซีใช้เป็นเครื่องแรกได้มากขึ้น" เคลดีว่า

ทายาทอะตอมมาแน่ต้นปีหน้า
พร้อมกันนี้เขาเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 บริษัทมีแผนเปิดตัวอินเทล อะตอม เจเนอเรชั่นใหม่ "ไพน์ เทรล-ดี (Pine Trail-D Platform)" ซึ่งจะเป็นการผลัดใบจากแพลตฟอร์มปัจจุบันที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา โดยจะจัดเป็นแพลตฟอร์มอะตอมยุคหน้าที่มีทั้งแบบซิงเกิล คอร์ และดูอัล คอร์ ที่จะเอื้อต่อการใช้งานฟังก์ชันสูงๆ มากขึ้น เช่น การใช้ในคอมพิวเตอร์ออล อิน วัน และคอมพิวเตอร์ที่มีรูปทรงขนาดเล็กลง (Small Form Facter)

ขณะที่ไฮไลต์เด่นของเทคโนโลยีดังกล่าวคือ การออกแบบให้ไม่มีพัดลม เพื่อลดความดังในการทำงานของเครื่อง และทำให้การดีไซน์เครื่องให้มีขนาดพื้นที่เล็กลงได้ง่ายมากขึ้น โดยที่ประสิทธิภาพการประมวลผลเพิ่มขึ้น และยังคงใช้พลังงานน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารอารมณ์ดียังบอกอีกว่า เทคโนโลยีใหม่ทั้ง 3 จี และไวแม็กซ์จะเป็น "ตัวจักร" สำคัญที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการ "การเชื่อมต่อ" มากขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่า เมื่อถึงเวลานั้นความต้องการเครื่องเพื่อใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว

ขอบคุณข่าวจาก"กรุงเทพธุรกิจ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น