วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พลเมืองเน็ตเสนอบังคับใช้กฎหมายคอมฯ

ต่อการบังคับใช้กฎหมายกับคดีทางคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 3 ข้อ ตั้งเป้าทุกภาคส่วนสะท้อนปัญหา หวังแก้ไขกฎหมายเดิม ผ่านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน...

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คณะกรรมการ เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ในกรณีของเว็บไซต์สมัยใหม่ที่เรียกว่า เว็บ 2.0 ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการเผยแพร่เนื้อหาได้เอง โดยไม่ต้องผ่านผู้ดูแลเว็บไซต์นั้น ถือเป็น ผู้ให้บริการ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ยากที่จะตรวจตราข้อมูลทุกชิ้นได้ในทันที อย่างไรก็ตาม ในคดีต่าง ๆ ที่ผ่านมาในรอบสองปีพบว่า แม้ผู้ดูแลเว็บไซต์จะได้จัดการกับเนื้อหาดังกล่าวทุกครั้งที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือใช้ดุลยพินิจว่าอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเอง

คณะกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวต่อว่า ข้อบังคับและการบังคับที่ทำให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้แล้ว ยังมีแนวโน้มให้การกำกับดูแลเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอต่อประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สังคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อสารมวลชน ดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ควรพยายามจับกุมผู้กระทำผิด มิใช่จับกุมตัวกลาง

2.เจ้าหน้าที่รัฐ สังคม และสื่อสารมวลชน จำเป็นต้องปฏิบัติกับผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์ และ

3.ผู้คนในสังคมควรมีทัศนคติต่อพื้นที่ออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ และร้านอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นดังเช่นกิจกรรม และพื้นที่ทั่วไปในสังคม

คณะกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวด้วย ต้องการให้ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สื่อสารมวลชน และประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร่วมสะท้อนปัญหาและประเด็นห่วงใย เพื่อนำไปสู่วิธีปฏิบัติร่วมกัน ตลอดจนแก้ไขกฎหมายเดิมและเสนอกฎหมายใหม่ ที่จำเป็นต่อสิทธิเสรีภาพในสังคมข้อมูลข่าวสาร อาทิ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ยังมิได้ตราเป็นกฎหมาย ทั้งนี้เครือข่ายฯ จะประสานผ่านทางโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ที่เว็บไซต์ไอลอ(http://ilaw.or.th/) ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น